Back to Newsroom
September 26, 2018
นวัตกรรมผ้าทอ อีสาน-ล้านนา ร่วมสมัย
Share

ผ้าไทยคือสมบัติอันล้ำค่าของชาติที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จนพูดได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาสู่คนยุคปัจจุบันก็ไม่ผิดนัก ผ้าไทยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นสวยงาม บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยเฉพาะผ้าทอของอีสานและล้านนา แต่ด้วยความที่ผ้าไทยนั้นต้องดูแลและเก็บรักษาด้วยวิธีที่อาจจะยุ่งยาก รวมทั้งราคาที่ค่อนข้างสูง จึงอาจทำให้ผ้าไทยได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แล้วถ้าหากเราใช้นวัตกรรมในยุคนี้ช่วยทำให้ผ้าไทยใส่ง่ายและดูแลง่ายยิ่งขึ้นล่ะ ก็ย่อมจะดีต่อคนไทยและชาวต่างชาติที่หันมาสนใจสวมใส่ผ้าไทยกันมากขึ้นแน่นอน
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่านวัตกรรมผ้าทออีสาน-ล้านนาร่วมสมัยเป็นแคมเปญที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทำขึ้นภายใต้ “โครงการเพิ่มมูลค่าผ้าทออีสานด้วยนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2561”

“หน่วยงานทั้ง 4 ที่ได้ร่วมมือกันนี้ จะส่งบุคลากรลงไปยังกลุ่มชาวบ้านและผู้ประกอบการในชุมชน เพื่อให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้พวกเขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทอผ้า การย้อมผ้า รวมทั้งการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษเข้าไปในงานผ้าทอเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เส้นใยชนิดใหม่อย่างเส้นใยไผ่ เส้นใยฟิลาเจน (มีคอลลาเจนช่วยให้ผิวไม่ระคายเคือง) การเพิ่มคุณสมบัติในการสะท้อนน้ำ ต้านแบคทีเรีย ผ้าเนื้อนุ่มขึ้นและยับยาก การเลือกใช้ชุดสีและอารมณ์ของสีโดยนำวัฒนธรรมของภาคอีสาน เช่น โบสถ์บ้านบัวและดอกกล้วยไม้ช้างกระมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสีและลวดลาย อันคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของงานฝีมือช่างทอผ้าไทย

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การย้อมสีธรรมชาติ การใช้เทคนิคการทอด้วยเส้นไหมขนาดเล็กละเอียดเนื้อนุ่ม การทอผสมเส้นไหมและเส้นใยธรรมชาติ เพื่อให้สวมใส่สบายและระบายความชื้นได้ดี เป็นต้น เรียกว่าเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อคนในชุมชนและเพิ่มอาชีพให้พวกเขาไปพร้อมกันด้วย ปัจจุบันผ้าทอที่ผ่านนวัตกรรมใหม่นี้ยังได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในญี่ปุ่นและในยุโรปเป็นอย่างดี เพราะเข้ากับเทรนด์อีโคเฟรนด์ลี ของโลก เนื่องจากผ้าทอของไทยที่ผ่านนวัตกรรมใหม่นี้จะมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง”ด้าน อุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เผยว่า กรมวิทย์ฯ มีหน้าที่ส่งเสริมให้ใช้สีธรรมชาติจากคราม ครั่ง ดอกดาวเรือง ฯลฯ มาประยุกต์ใช้ในการย้อมผ้าโดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยให้สีเหล่านี้ย้อมออกมาแล้วสีผ้าไม่ตก ที่สำคัญสีจากธรรมชาตินี้ยังสามารถปรับได้หลายเฉดสี และเมื่อนำมาออกแบบร่วมกัน ก็ต้องทำให้สีบนผ้าที่ทอออกมานั้นเป็นสีที่สม่ำเสมอและคงเส้นคงวาให้มากที่สุด ต่อมาก็คือนวัตกรรมการทอด้ายจากฝ้ายและไหมให้เป็นรูปแบบของผ้ายีนส์ โดยใช้กี่ทอผ้าที่มีอยู่ในชุมชน และสุดท้ายก็คือการถ่ายทอดเรื่องราวของผ้าไปสู่ผู้ใช้ โดยได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Color ID Labeling ติดไว้ที่ผืนผ้า ฉะนั้นเมื่ออยากทราบประวัติความเป็นมาของผ้าทอว่าทำมากี่ผืน หรือมีคุณสมบัติอย่างไร ผู้ใช้ก็สามารถสแกน QR Code หรือ AR Code เพื่อดูข้อมูลของผ้าทอนั้นได้เลย

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เสริมว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า “แพรวา” เป็นผ้าทอของชาวภูไทใน จ.กาฬสินธุ์ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความงดงาม แต่ข้อด้อยของผ้าแพรวาก็คือมีราคาค่อนข้างสูงนั่นเอง

“มหาวิทยาลัยของเราได้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ทอผ้าแพรวา โจทย์สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ผ้าแพรวามีราคาที่ถูกลง ก็สรุปได้ว่าแทนที่จะทอผ้าแพรวาทั้งผืนเหมือนแต่ก่อน เราก็เปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมในการทอผ้าแพรวาร่วมกับผ้าลินิน ซึ่งก็ช่วยให้ราคาของผ้าถูกลง แล้วเรายังออกแบบให้ทอเป็นผืนเล็กๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นอีกด้วยหรืออย่างผ้าซิ่นตีนแดงของ จ.บุรีรัมย์ เราก็ไปแนะนำให้ชาวบ้านออกแบบเป็นเสื้อคลุมที่สามารถใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทำให้จำหน่ายได้มากขึ้น หรือนำผ้าฝ้ายทอมือของ จ.อุบลราชธานี มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการใช้เอนไซม์ที่ได้จากวิธีวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า ไมรัสเอนไซม์ ช่วยทำให้ผ้าทอมีเนื้อผ้าที่นุ่มยิ่งขึ้น หรือผ้าที่เก็บไว้นานๆ และมีกลิ่นอับ เราก็ใช้ไมโคร เอนไซม์ ช่วยให้ผ้านั้นมีกลิ่นที่หอมขึ้นได้”

ขณะที่ ป้อม-อัครเดช นาคบัลลังก์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงา จ.เชียงใหม่ ผู้จัดงานออร์แกไนเซอร์ด้านวัฒนธรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยโบราณ ให้มุมมองในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

“ผมสะสมผ้าไทยมา 40 ปี และมีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษเกี่ยวกับสิ่งทอรวมทั้งนำผ้าไทยมาทำเป็นชุดในการประกวดและชุดในละคร ที่คนจำได้ก็คือเรื่อง ‘วันนี้ที่รอคอย’ ‘ศิลามณี’ ‘เจ้านาง’ ‘เพลิงพระนาง’เป็นต้น นอกจากนี้ผมยังนำผ้าไทยที่สะสมไว้มาเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงาขึ้นในตัวเมืองเชียงใหม่ (ซอยโรงแรมธารินทร์) อีกด้วย ผ้าไทยส่วนใหญ่ที่สะสมจะเป็นผ้าไทยโบราณจากทุกภาคของไทย เนื่องจาก 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ชาวต่างชาติจึงเริ่มให้ความสนใจผ้าไทยโบราณกันมาก แต่คนไทยเองกลับไม่ค่อยสนใจสักเท่าไร ส่วนใหญ่มักไปนิยมเสื้อผ้าแบบฝรั่งแทน ผมสะสมผ้าไทยมาตั้งแต่ตัวเองยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคราชมงคลล้านนา ตอนที่เรียนอยู่ผมมักจะได้รับมอบหมายจากอาจารย์ให้จัดงานแฟชั่นอยู่บ่อยๆ กระทั่งมีการจัดงานประชุมนานาชาติขึ้นที่เชียงใหม่ในยุคนั้น ผมและเพื่อนจึงได้รับมอบหมายให้จัดแฟชั่นโชว์ผ้าไทยในแนวล้านนาย้อนยุคในงานเลี้ยงรับรองแขกต่างชาติที่มาประชุม โดยทำแฟชั่นโชว์ในชุดชาวล้านนาโบราณ ที่มีทั้งผ้าโพกหัว ผู้ชายนุ่งผ้าเตี่ยว การแต่งตัวแบบไทลื้อ ฯลฯ จนหลายปีต่อมาคนก็เริ่มยอมรับผ้าไทยกันมากขึ้นเรื่อยๆ”


ป้อมบอกว่า ผ้าทอของล้านนาที่มีความโดดเด่นก็คือผ้าตีนจก ส่วนผ้าทอของอีสานจะเป็นผ้ามัดหมี่ ซึ่งผ้าทั้งสองรูปแบบนี้มีเทคนิคการทอที่แตกต่างกัน โดยจะคงความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแห่งอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรล้านช้างซึ่งเป็นอาณาจักรพี่น้องในอดีตไว้ครบถ้วน อาทิ ลายดอกไม้ ลายสัตว์ในป่าหิมพานต์ ไม้มงคล ฯลฯ เขาจึงนำผ้าไทย 2 หมื่นกว่าผืนที่เก็บสะสมไว้มาเริ่มจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งผ้าตีนจก ผ้าไทลื้อ ผ้าไทใหญ่ ผ้าในราชสำนักล้านนา รวมทั้งผ้าอีสาน ลาว เขมร ก็มีหมด

“ในยุคนี้ผ้าไทยเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ฉะนั้นเมื่อคนหันมาเริ่มใส่ผ้าไทยกัน เรื่องของวัสดุ การทอผ้า และการย้อมผ้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในสมัยก่อนเราอาจจะใช้วิธีทอผ้าและย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ปั่นฝ้ายด้วยมือ แต่สีที่ย้อมธรรมชาติก็จะตกหรือซีดจางได้ง่าย เวลาตากจึงต้องตากในที่ร่ม ใส่เสร็จแล้วก็ต้องกลับเอาด้านในออกมาเพื่อไม่ให้โดนแดดเลียสีผ้า เป็นต้น แต่ปัจจุบันนี้ชีวิตคนได้เปลี่ยนไป คนยุคใหม่อยากจะสวมใส่ผ้าไทยที่สามารถใส่ขึ้นรถไฟฟ้าได้ สามารถโดนแสงไฟในห้างได้ หรือทนต่อสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นนวัตกรรมจึงมีส่วนเป็นอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนมาใช้ผ้าไทยของคนในยุคนี้

ปัจจุบันจึงมีการปรับปรุงเทคนิคการทอ การย้อม และอื่นๆ โดยมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ทอด้วยเส้นใยนาโน ทอด้วยเส้นใยที่ยืดหยุ่นได้ ทนทาน ใส่แล้วไม่ร้อน เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้สามารถนำมาผสมผสานกับผ้าไทยโบราณได้ แต่สิ่งสำคัญคืออย่าละทิ้งรูปแบบ เอกลักษณ์ เทคนิคแบบโบราณ หรืออัตลักษณ์อย่างลวดลายไป หรือคนสูงอายุที่ทำอยู่ก็ต้องส่งเสริมให้พวกเขาทำต่อไป เพื่อไม่ให้มรดกนี้สูญหายไป

ปัจจุบันนี้นอกจากจะได้รับเชิญให้ไปบรรยายพิเศษตามที่ต่างๆ และรับจัดงานแนววัฒนธรรมแล้ว ผมยังมีแพลนว่าจะทำหนังสือเกี่ยวกับลวดลายผ้าไทยของอีสาน ล้านช้าง และล้านนาขึ้นมา รวมทั้งได้เปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงาที่ จ.เชียงใหม่ อีกด้วย” ติดตามที่ FB : Sbunnga Museum พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงาสำหรับ หนูสิ-สิริรัตน์ เรืองศรี มิสไทยแลนด์ เวิลด์ 2010 ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้ผ้าไทยมาเป็นเครื่องนุ่งห่ม ทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน

“เดิมทีแล้วสิเป็นชาวเชียงใหม่ ตั้งแต่เด็กๆ เราก็โตมากับวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งจะมีการใช้ผ้าพื้นเมือง ผ้าประจำเผ่า ทำเครื่องนุ่งห่มและงานฝีมือต่างๆ ดังนั้นตั้งแต่เด็กๆ สิก็จะใส่ผ้าพื้นเมืองมาโดยตลอด เมื่อมีงานปีใหม่หรือกิจกรรมที่โรงเรียน ชุดของสิจะอลังการเสมอ เพราะคุณแม่จะตัดชุดให้ตลอด โดยใช้ผ้าฝ้ายทอมือของเผ่าม้ง เผ่าแม้ว และไทลื้อ นำมาออกแบบและตัดเป็นชุดสวยงาม เรียกว่าตั้งแต่โตมาสิมีชุดที่คุณแม่ตัดให้เยอะมาก ปัจจุบันนี้ยังเก็บไว้อยู่เลยค่ะ

ก่อนที่จะมาประกวดนางงาม สิก็เคยประกวดเวทีนางแบบมาก่อน เขาก็ให้ใส่เสื้อผ้าตามสไตล์ที่เราชอบ สิก็นำกระโปรงแม้วที่แม่ตัดให้มาใส่จนได้รับรางวัลพิเศษ ยิ่งตอนที่มาประกวดนางงามเวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ด้วยนะ เราก็พรีเซนต์ชุดผ้าไทยเลยค่ะ คืองานไหนที่เราสามารถขอเขาใส่ชุดผ้าไทยได้ สิก็จะใส่ทันทีเลย โดยจะเตรียมมาเองทั้งหมด”

หนูสิบอกว่า ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยในความคิดของเธอแล้วมันมากกว่าความเป็นแฟชั่น แต่เป็นทั้งวัฒนธรรมและงานฝีมือที่น่าอัศจรรย์ ซึ่งเราสามารถหยิบจับมาใช้ได้ทุกโอกาส

“สำหรับการมีนวัตกรรมเข้ามาใช้กับผ้าทออีสาน-ล้านนา สิมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหลายคนอาจคิดว่าผ้าทอนั้นดูแลยากเกินไป ตัดเย็บก็ยาก เก็บรักษาก็ยาก ใส่ก็ลำบาก เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ผู้ใช้ดูแลผ้าได้ง่ายขึ้น ใช้ได้คงทนยาวนานขึ้น ใช้ไปแล้วสียังสวยอยู่ หรือสีไม่ตก สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนที่ชอบใช้ผ้าไทยทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นพ่อแม่เราเลยค่ะ การมีนวัตกรรมเกี่ยวกับผ้าทอเข้ามา จะช่วยต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมผ้าไทยได้ เพราะไม่เพียงแต่ขายในประเทศไทยเท่านั้น แต่เรายังส่งไปขายยังต่างประเทศได้ด้วย ที่ผ่านมาอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนไทยที่จะศึกษาเทคนิคในการใช้หรือดูแลรักษาผ้าไทย แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้วเขาจะไม่รู้วิธี ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่ชาวต่างชาติจะสามารถใช้ผ้าไทยที่ดูแลรักษาง่ายกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่ผ้าไทย รวมทั้งวัฒนธรรมไทยไปสู่สายตาชาวโลกได้อีกทางหนึ่งด้วยค่ะ”

ที่มา: โพสต์ทูเดย์

Related News

ฟิลาเจนร่วมงาน Trade Fair for Fibers & Yarns ณ เมืองมุมใบ ประเทศอินเดีย

Read more

พาซาญ่า จัดงาน PASAYA 海上丝绸之路 พาซาญ่า จุ๊นสยาม ตามทางสายไหม หรือ SILK ROAD ON THE SEA ประกาศพร้อมรุกตลาดจีน เปิดตัวบริษัทร่วมกิจการ พาซาญ่า ซีโนเปีย

Read more

ไต้หวันรุกสิ่งทอ 4.0 ไทย

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการปรับตัว เพื่อก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เห็นได้จากการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใส่ไว้ในเส้นใยของสินค้า เพื่อให้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่อง นุ่งห่มของไทย

Read more